UNDRIP การประเมินการดำเนินงานตามปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง ในประเทศไทย

สหประชาชาติเห็นความสำคัญและความจำเป็นที่ต้องส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองซึ่งอาศัยกระจายอยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยได้จัดทำปฏิญญาว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง หรือ UNDRIP ขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับส่งเสริมความร่วมมือระหว่างชนเผ่าพื้นเมืองและรัฐภาคีของสหประชาชาติ รวมทั้งหน่วยงานของสหประชาชาติด้วย โดยสมัชชาใหญ่ของสหประชาชาติได้รับรองปฏิญญาฯ ดังกล่าวเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2550 ซึ่งรัฐบาลไทยก็ร่วมลงนามรับรองด้วยเช่นกัน

เพื่อให้เนื้อหาและเจตนารมณ์ของปฏิญญาฯ มีการนำไปปฏิบัติจริง ทางองค์กรและเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองได้เฝ้าติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานของรัฐภาคีทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ ว่าได้มีการนำไปใช้ในการส่งเสริมและแก้ไขปัญหาชนเผ่าพื้นเมืองในแต่ละด้านอย่างไรบ้าง แต่ว่ายังอยู่ในลักษณะที่ต่างคนต่างทำไม่เป็นระบบ เพื่อให้การติดตามผลการดำเนินงานเป็นไปอย่างมีระบบและมีรูปธรรม องค์กรเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ได้ร่วมกันออกแบบเครื่องมือเพื่อใช้สำหรับการประเมินความก้าวหน้าการดำเนินงานของปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง ในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก และได้คัดเลือกพื้นที่นำร่องเพื่อใช้ทดลองเครื่องมือดังกล่าว

ในเอเซียทางเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองสากล ได้เสนอให้ประเทศไทย และประเทศเนปาลเป็นพื้นที่ศึกษาและทดลองใช้เครื่องมือดังกล่าว ในส่วนของประเทศไทยทางสมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย (IMPECT) และมูลนิธิชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อการศึกษาและสิ่งแวดล้อม (IPF) ได้เสนอให้มีการทดลองใช้ในพื้นที่ 3 ชุมชน คือบ้านขุนแตะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นชุมชนชาวกะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ) บ้านป่าเกี๊ยะ อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย เป็นชุมชนชาวอาข่า และชาวลาหู่  และชุมชนชาวมอแกลน จ.พังงา  1  ชุมชน ผลที่ได้จากการประเมินจะนำไปใช้เป็นข้อมูลในการรณรงค์และทำความเข้าใจให้กับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อจะได้ร่วมกันส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองตามกรอบปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองได้อย่างเป็นรูปธรรมจริง