ภูไท

ภูไท

            ชาวภูไทหรือภาษาเขียนว่า “ ผู้ไท ” ปัจจุบันอาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้แก่จังหวัด อำนาจเจริญ สกลนคร กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ยโสธร อุดร นครพนม และจังหวัดร้อยเอ็ด

นักวิชาการส่วนใหญ่เชื่อว่า ดั้งเดิมมีภูมิลำเนาอยู่ที่แค้วนสิบสองจุไท ประเทศเวียดนาม มีเมืองแถน หรือ เมืองแถงเป็นศูนย์กลางทางการ เมือง การปกครอง ต่อมาได้มีการเคลื่อนย้ายเข้าสู่ประเทศลาวและสู่ประเทศไทยตามลำดับ การอพยพเข้ามาในไทยโดยการชักชวน ครั้งแรกเข้ามา ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้ากรุง ธนบุรี เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๑ ภาษาผู้ไท หรือภาษาภูไท จัดอยู่ในตระกูลภาษาไท-กระได มีลักษณะทางภาษาศาสตร์ที่ใกล้เคียงกับภาษาไทอีสาน

การแต่งกายผู้หญิงผู้ไทมักจะไว้ผมยาวและเกล้ามวยผมไว้กลางกะหม่อม เวลาจะออกนอกบ้านมักจะมีผ้ามัดที่ผม เรียกว่า ผ้าแพรมน มีสีสันและ ลวดลายขิดในแบบฉบับชาวผู้ไท เสื้อนิยมเป็นเสื้อแขนกระบอกธรรมดา กระดุมเงินหรือเหรียญสตางค์ มีกำไลแขนเงินสองข้าง ผู้ชายมักจะนุ่งโสร่งไหมในงานพิเศษ เวลาปรกติจะนุ่งกางเกงขาก๊วยหรือสโร่งที่ทำจากฝ้ายแทน เสื้อจะเป็นเสื้อโทนสีดำเหมือนกับผู้หญิงแต่เป็นแขนสั้น คอตั้งขลิบแดง หรือสีอื่น ๆ ตามใจชอบ มักจะมีผ้าขาวม้า ผาดบ่า มัดเอว หรือมัดหัวเวลาเดินทาง ในอดีตนั้นชายชาวผู้ไทนิยมสักขาลายเพื่ออวดสาว ๆ ถึงความงามและคงกระพันชาตรี

เฮือนผู้ไท  เป็นเรือนปลูกสร้างคู่กันสองหลังระหว่างเรือนใหญ่หรือเรือนนอนและเรือนโข่ง (เรือนระเบียง) โดยให้หลังคาสองหลังมาจรดกัน มีฮางลิน (รางน้ำ) เชื่อมต่อระหว่างเรือนทั้งสอง เรือนโข่งจะมีโครงสร้างของตนเอง สามารถรื้อไปปลูกที่อื่นได้ เรือนโข่งภายในจะเปิดโล่งไม่กั้นห้องจึงทำให้เกิดที่ว่าง  ซึ่งสนองประโยชน์ได้หลายอย่าง ทั้งยังเป็นศูนย์กลางภายในที่เชื่อมต่อกับส่วนอื่นบนเรือน เช่น เรือนใหญ่ ครัว ชาน ทั้งด้านหน้า และด้านหลังจึงนับได้ว่าเป็นเรือนที่นิยมปลูกสร้างมาก และนอกจากนี้ยังมีเรือนที่ปลูกสร้างในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน แต่ต่างกันที่เป็นเรือนแฝด สร้างในลักษณะที่มีโครงสร้าง เสา พื้น และจั่วยึดเกาะติดกันกับเรือนใหญ่ เรียกตามภาษา ถิ่นว่า “เรือนแฝด” ซึ่งจะพบไม่มากนัก

ชาวผู้ไทมีความเชื่อและนับถือผีผสมผสานกับพุทธศาสนา  เช่นการทำบุญข้าวสาก การทำบุญข้าวประดับดิน และการทำบุญซำฮะ เป็นพิธีกรรมอันสืบเนื่องจากความเชื่อเรื่องผีแต่มีพระเข้าร่วมพิธีด้วย

ชาวผู้ไทบริโภคข้าวเหนียวเป็นหลัก หาอาหารจากหนองน้ำธรรมชาติ ป่าเขา และอาหารตามฤดูกาล เช่น หน่อไม้ หน่อหวาย ไข่มดแดง ผักหวาน ปลา เห็ดป่า ดอกกระเจียว แมลง กรณีที่มีงานเทศกาลต่างๆ ถึงจะมีการล้มสัตว์ใหญ่ เครื่องดื่มที่นิยมทำกินในเทศกาลต่างๆ ก็คือ เหล้าอุ ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของชาวผู้ไทอย่างหนึ่ง เหล้า อุ เรียกตาม ภาชนะที่บรรจุมี ลักษณะเป็นโอ่งเล็กๆ วัตถุดิบที่นำมาทำเหล้าอุคือ ข้าวเหนียว แกลบ ลูกข้าวหมาก หรือแป้งข้าวหมากนั่นเอง รสชาติจะออกหวานๆ ขมๆผสมดีกรีกับแอลกอฮอล์

ศิลปะการแสดง ฟ้อนผู้ไทเป็นการแสดงที่เลื่องชื่อทางอีสานเหนือ ด้วยท่าทางที่นุ่มนวล อ่อนช้อย จากท่าทางที่ประดิษฐ์จากธรรมชาติรอบตัว ความเชื่อ และวรรณกรรม ท้องถิ่น เป็นนาฏศิลป์ที่ติดตาตรึงใจแก่ผู้ได้ชม