ผลกระทบจากภาวะโลกร้อน
นอกจากปัญหาการละลายของน้ำแข็งขั้วโลกที่ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นแล้ว ภาวะโลกร้อนยังเป็นสาเหตุให้บางพื้นที่เกิดความแห้งแล้ง ฝนไม่ตกตามฤดูกาล ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำและทะเลสาบหลายแห่งทั่วโลกลดลง เกิดความอดอยาก เนื่องจากผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำลง จากการศึกษาของสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติพบว่า ผลผลิตข้าวจะลดลงร้อยละ ๑๕ เมื่ออากาศร้อนขึ้น ๑ องศาเซลเซียส
ในทวีปแอฟริกา นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าภายในสิ้นศตวรรษนี้ น้ำในแม่น้ำต่างๆ จะมีปริมาณลดลงร้อยละ ๒๕ อันจะส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรและการประมง ผู้คนกว่า ๒๐ ล้านคนจะไม่มีอาหารพอเลี้ยงชีพ สัตว์ป่าหลายชนิดจะขาดแคลนแหล่งน้ำตามธรรมชาติ และอาจส่งผลให้สัตว์ป่าในแอฟริกาตั้งแต่นกไปจนถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมต้องสูญพันธุ์
ความแห้งแล้งยังก่อให้เกิดไฟไหม้ป่าอย่างรุนแรงทั่วโลก ตั้งแต่ป่าในสหรัฐอเมริกา ป่าแอมะซอนในบราซิล ไปจนถึงป่าในออสเตรเลีย ในรอบ ๑๐ ปีที่ผ่านมาเกิดไฟไหม้ป่าฝนเขตร้อนในประเทศอินโดนีเซียรุนแรงขึ้นทุกปี พื้นที่ป่าเสียหาย ๑๒ ล้าน ๕ แสนไร่ ในปี ค.ศ. ๒๐๐๓ คลื่นความร้อนอย่างรุนแรงได้แผ่กระจายไปทั่วโลก โดยเฉพาะในยุโรป ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง ๓๕,๐๐๐ คน
ภาวะโลกร้อนยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดพายุหมุนในทะเลถี่ขึ้นและรุนแรงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพายุเฮอริเคน ไซโคลน และพายุไต้ฝุ่น ตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก เมืองที่อยู่ตามชายฝั่งจะได้รับผลกระทบจากความรุนแรงของพายุบ่อยครั้ง ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๒๐๐๕ พายุเฮอริเคนแคทรีนา (Katrina) ได้พัดถล่มเมือง
นิวออร์ลีนส์ในประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างย่อยยับ มีผู้เสียชีวิตนับพันคน และในปีก่อนหน้านั้น พายุไต้ฝุ่นถึง ๑๐ ลูกได้พัดถล่มเกาะญี่ปุ่นมากเป็นประวัติการณ์ จากที่เคยทำสถิติปีละ ๗ ลูก เช่นเดียวกับพายุไซโคลนที่พัดถล่มประเทศออสเตรเลียอย่างรุนแรง ไม่แพ้ประเทศในแถบทะเลจีนใต้ที่มีพายุไต้ฝุ่นพัดเข้าถล่มเกือบ ๒๐ ลูกในช่วงปีที่ผ่านมา จากเดิมที่มีเฉลี่ยปีละ ๑๐ ลูก
ภาวะโลกร้อนยังทำให้เกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ตั้งแต่ประเทศจีน ญี่ปุ่น เวียดนาม ไทย พม่า บังกลาเทศ จนถึงอินเดีย เช่นที่เมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย ในเดือนกรกฎาคม ๒๐๐๕ วัดปริมาณน้ำฝนได้ถึงระดับ ๓๗ นิ้วภายใน ๒๔ ชั่วโมง
ผลกระทบสำคัญอีกประการคือ การระบาดของเชื้อโรคชนิดต่างๆ เนื่องจากแมลงหลายชนิดที่เป็นพาหนะสำคัญของเชื้อโรคมีการกระจายพันธุ์ได้ดีขึ้น อาทิ อุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้วงจรชีวิตของยุงมีระยะสั้นลง และยุงยังสามารถอพยพไปอยู่ในที่ที่เคยมีอากาศเย็นได้ ภูเขาหลายแห่งและพื้นที่ที่ไม่เคยมียุงมาก่อนกลับพบว่ามียุงแพร่กระจายเข้าไป ส่งผลให้เกิดการระบาดของโรคมาลาเรียอย่างรวดเร็ว นักวิทยาศาสตร์พบว่า ทุกวันนี้มีผู้ได้รับเชื้อมาลาเรียประมาณ ๕๐๐ ล้านคน เพิ่มขึ้นถึง ๔ เท่านับจากเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๙๐ โดยเฉพาะในทวีปอเมริกาใต้และทวีปแอฟริกา ขณะที่มีผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นถึงปีละ ๑๕ ล้านคน โดยส่วนใหญ่เป็นเด็ก และมีการคำนวณว่าอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น ๑ องศาเซลเซียส จะทำให้ความเสี่ยงในการเกิดโรคไข้เลือดออกเพิ่มสูงถึงร้อยละ ๔๗ นอกจากนั้นยังมีรายงานว่าพบการระบาดของโรคไข้เลือดออกเป็นครั้งแรกในเทือกเขาแอนดีส ประเทศชิลี ยังไม่นับรวมการระบาดของโรคอีกหลายชนิด อาทิ ไข้อหิวาไข้สมองอักเสบ ฯลฯ และการแพร่กระจายของแมลงศัตรูพืชที่เป็นต้นเหตุของการทำลายพืชผลการเกษตรทั่วโลก
องค์การอนามัยโลกประมาณว่า ในแต่ละปีประชากร ๑๖๐,๐๐๐ คนป่วยตายจากโรคที่มีผลมาจากภาวะโลกร้อน
ความแปรปรวนของสภาพอากาศทำให้เกิดภัยแล้ง ผืนดินกลายเป็นทะเลทราย และระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น รวมทั้งความแปรปรวนของฤดูกาล ข้อมูลทางสถิติที่สำคัญแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างการโยกย้ายถิ่นฐาน และการทำลายสิ่งแวดล้อมที่รวมถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศของโลกว่าการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศของโลกจะเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดการโยกย้ายถิ่นฐาน เมื่อก่อนเราคุ้นชินกับคำว่า ผู้ลี้ภัยสงคราม ผู้ลี้ภัยทางการเมือง และในวันนี้เราก็เริ่มได้ยินคำว่า ผู้ลี้ภัยด้านสิ่งแวดล้อม จนกระทั่งปัจจุบันนี้เราจึงเปลี่ยนมาเรียกกันว่า ผู้ลี้ภัยจากสภาพภูมิอากาศ
จากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้มีผู้ที่ต้องย้ายถิ่นที่อยู่อาศัยหรือผู้ลี้ภัยจากสภาพภูมิอากาศ (Climate refugees) เช่น ภัยแล้ง ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น น้ำท่วม พายุ ซึ่งคำว่า Climate refugees นี้เริ่มถูกใช้ในปี 1980 โดยผู้ลี้ภัยจากสภาพภูมิอากาศกลุ่มแรกๆ คือ ประชากรบนเกาะโบลา (Bhola Island) ในประเทศบังกลาเทศ ที่มีจำนวนมากกว่า 500,000 คนที่ต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน สาเหตุจากน้ำท่วมจนพื้นที่เกาะหายไปถึงครึ่งหนึ่ง ในปี ค.ศ. 2005
ขณะที่ชาวเกาะคาเทเร็ต (Carteret Islands) ในปาปัวนิวกีนีเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่กลายเป็นผู้ลี้ภัยจากสภาพภูมิอากาศ อันเนื่องมาจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น โดยเชื่อว่ามีสาเหตุมาจากโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศของโลก ขณะที่ผู้คนที่อาศัยอยู่ในหมู่เกาะที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ระดับน้ำทะเลต่ำในหลายพื้นที่ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะเจอกับปัญหาดังกล่าวเช่นกัน ขณะที่ประเทศตูวาลู (Tuvalu), คีรีบาทิส (Kiribati) และ มัลดีฟส์ (Maldives) จัดอยู่ในพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวต่อสถานการณ์เช่นนี้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลและคลื่นพายุ
ในอลาสก้า หมู่บ้านชิชมารีฟ (Shishmaref) ซึ่งตั้งบ้านเรื่อนอยู่รอบแนวเกาะซาริแชฟ (Saricherf) ต้องอพยพถอยร่นออกจากพื้นที่เนื่องจากเผชิญกับปัญหาอุณหภูมิที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้น้ำแข็งในทะเลและน้ำแข็งจากหิมะละลาย
ขณะนี้ประเทศหมู่เกาะทั่วโลกกำลังจะจมในอนาคตอันใกล้ พวกเขาคือกลุ่มแรกที่ต้องเผชิญกับปัญหาอันยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ ไม่เพียงหมู่เกาะกลางทะเลเท่านั้น พื้นที่ชายฝั่ง พื้นที่แห้งแล้ง พื้นที่ประสบภัยพิบัติมากมายจนส่งผลต่อวิถีชีวิตมนุษย์กำลังเกิดและปรากฏมากขึ้นเรื่อยๆ จนไม่อาจคาดการณ์ได้
สำหรับประเทศไทย หลายพื้นที่ในประเทศต่างได้รับผลกระทบจากการหายไปของพื้นที่ชายฝั่ง วันนี้ในหลายพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลเริ่มมีการอพยพออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่บางขุนเทียน (กรุงเทพฯ) ขุนสมุทรจีน (สมุทรปราการ)บริเวณอ่าวไทยตอนบน และอ่าวไทยตอนล่างได้แก่บริเวณแหลมตะลุมพุก