นโยบายลดภาวะโลกร้อนกับประเทศไทย

นโยบายลดภาวะโลกร้อนกับประเทศไทย

ตามที่ประเทศไทยให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  UNFCCC เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2537 และเป็นภาคีพิธีสารเกียวโตเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2548

การดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของไทย อยู่ภายใต้ คณะกรรมการนโยบาย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ เป็นฝ่ายเลขาฯ และทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานกิจกรรมของ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพ ภูมิอากาศ

 

ภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาคีพิธีสารเกียวโต ประเทศไทย ได้ดำเนินการดังนี้

1) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2551-2555 และแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2551-2555 ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2551 แผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวกำหนดประเด็นยุทธศาสตร์ 6 ด้าน คือ

(1) สร้างความสามารถในการปรับตัวเพื่อรับมือและลดความล่อแหลมต่อผลกระทบจากสภาพ ภูมิอากาศ

(2) สนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

(3) สนับสนุนงานวิจัยและพัฒนา

(4) สร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา

(5) เพิ่มศักยภาพของบุคลากร

(6) การพัฒนาการดำเนินงานในกรอบความร่วมมือกับต่างประเทศ

 

ปัจจุบันอยู่ระหว่างทบทวน  “(ร่าง) แผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ พ.ศ.2553 – 2562” ซึ่งเป็นแผนครอบคลุมการดำเนินการ 10 ปี (พ.ศ.2553-2562)  เพื่อใช้เป็นกรอบและแนวทางในการพัฒนาศักยภาพของทุกภาคส่วนในประเทศ จากที่เคยถูกระงับการประกาศใช้มาแล้วเมื่อปี 2553 เนื่องจากความไม่โปร่งใสและความเป็นธรรมในหลายๆ ด้าน

 

2) วันที่ 15 พฤษภาคม 2550 คณะรัฐมนตรีมีมติ เห็นชอบให้จัดตั้ง “องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)” เรียกโดยย่อว่า “อบก.” มีชื่อภาษาอังกฤษว่า “Thailand Greenhouse Gas Management Organization (Public Organization)” เรียกโดยย่อว่า “TGO” ขึ้น ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีวัตถุประสงค์หลัก

1.วิเคราะห์ กลั่นกรอง และทำความเห็นเกี่ยวกับการให้คำรับรองโครงการที่ลดการปลดปล่อยก๊าซ เรือนกระจกตามกลไกการพัฒนาที่สะอาด

  1. ติดตามประเมินผลโครงการที่ได้รับคำรับรอง ส่งเสริมการพัฒนาโครงการ และการตลาดซื้อขายปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับการรับรอง เป็นศูนย์กลางข้อมูลที่เกี่ยวกับสถานการณ์ดำเนินงานด้านก๊าซเรือนกระจก

3.จัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับโครงการที่ได้รับคำรับรอง และการขายปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับการรับรอง ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ ตลอดจนให้คำแนะนำแก่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเกี่ยวกับการบริหารจัดการก๊าซ เรือนกระจก รวมทั้ง เป็นศูนย์กลางในการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์การระหว่างประเทศ
3) เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2552 คณะ รัฐมนตรีอนุมัติให้ กระทรวงทรัพยาการธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ตั้งสำนักงานประสานการจัดการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ทำหน้าที่หน่วยงานกลางประสานการดำเนินงานของกรอบอนุสัญญา UNFCCC และพิธีสารเกียวโต และประสานงานระหว่างผู้ประสานงานด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change Officer: CCO) ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติให้จัดตั้ง CCO 30 หน่วยงานเป็นหน่วยงานระดับกระทรวง 19 หน่วยงานและไม่ใช่กระทรวง 11 หน่วยงาน