คาร์บอนเครดิต
กลไก หลักที่ทำให้เกิดคาร์บอนเครดิตก็คือ พันธกรณีตามพิธีสารเกียวโต โดยกำหนดพันธกรณีและสร้างกลไกต่าง ๆ ที่จะทำให้เป้าหมายของกรอบอนุสัญญาฯ เกิดผลในทางปฏิบัติได้จริง โดยกำหนดพันธกรณีให้ประเทศภาคีสมาชิกต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดมากขึ้น กล่าวคือ
พันธกรณีกลุ่มภาคีประเทศในภาคผนวกที่ 1 Annex I1 หรือกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมจะต้องมีพันธกรณีและเป้าหมาย (Emission Target) ให้ลดอัตราการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้โดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 5 ในช่วงปี 2551-2555 โดยแต่ละประเทศจะได้รับการจัดสรรปริมาณก๊าซที่ตนเองสามารถปล่อยได้ในแต่ละปี (หรือที่เรียกว่า “หน่วยปริมาณการปล่อยก๊าซที่ได้รับจัดสรร” หรือ AAUs: Assigned Amount Units) หรือเป็น “คาร์บอนเครดิต” และมีพันธะที่จะต้องควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวมให้อยู่ภายในจำนวนปริมาณการปล่อยก๊าซที่ได้รับจัดสรร
กรณีตัวอย่าง ประเทศ A เป็นประเทศที่อยู่ในภาคผนวกที่ 1มีพันธกรณีในการลดก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 6 ของปริมาณการปลดปล่อย แต่เมื่อคำนวณแล้ว ปรากฏว่าประเทศ A ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินกว่าที่กำหนดไว้ ฉะนั้น ประเทศ A ก็จะต้องหา “Carbon Credit” ผ่านกลไกทางการตลาดทั้ง 3 ของพิธีสารเกียวโตมาชดเชย โดยถ้าหากเกินมากก็จะต้องลงทุนในการจัดหา Carbon Credit มากขึ้นด้วย
พันธกรณีกลุ่มภาคีประเทศนอกภาคผนวกที่ 1 Non-Annex I กลุ่มภาคีที่เป็นประเทศกำลังพัฒนา เช่น ประเทศไทย นั้น พิธีสารเกียวโตไม่ได้กำหนดให้มีหน้าที่ต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่อย่างใด เพียงแต่ต้องจัดทำรายงานบัญชีแห่งชาติ (National Inventories) แสดงปริมาณการปล่อยก๊าซในแต่ละปี ตลอดจนมาตรการและนโยบายต่าง ๆ ที่ดำเนินการขึ้นเพื่อบรรเทาปัญหาหรือรับมือกับผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยน แปลงสภาพภูมิอากาศ อันเป็นพันธกรณีทั่วไปตามกรอบอนุสัญญาฯ ที่ทุกประเทศจะต้องปฏิบัตินั่นเอง ดังนั้น ประเทศกำลังพัฒนาจึงไม่มี “คาร์บอนเครดิตประเภทปริมาณก๊าซที่ได้รับจัดสรร (AAUs carbon credit)” คาร์บอนเครดิตจึงสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ
- คาร์บอนเครดิตที่เกิดจากพันธกรณีของกลุ่มภาคี ประเทศในภาคผนวกที่ 1 Annex I กลุ่มภาคี Annex I หรือกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมมีพันธกรณีและเป้าหมาย (Emission Target) การปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวมน้อยกว่าปริมาณการปล่อยก๊าซในปี 2533 อย่างน้อย 5% ในช่วงปี 2551 – 2555
- คาร์บอนเครดิตที่เกิดจากการดำเนินโครงการเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก ได้แก่
- กลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM) เป็นกลไกที่เปิดโอกาสให้เกิดการร่วมมือกันระหว่างกลุ่มภาคี ภาคผนวกที่ 1 หรือประเทศที่พัฒนาแล้ว กับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา โดยให้เกิดการลงทุนในโครงการที่มีผลให้เกิดการลดปริมาณก๊าซในพื้นที่ของ ประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งจะช่วยให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อีก ส่วนหนึ่ง ทั้งนี้ จะมีการคิดคาร์บอนเครดิตจากหน่วยปริมาณก๊าซที่ลดได้และได้รับการรับรอง (CERs: Certified Emission Reductions) ซึ่งภาคี Annex I สามารถนำใบรับรองหรือ CERs นี้ไปคำนวณเพื่อคิดปริมาณการปล่อยก๊าซโดยรวมทั้งหมดของประเทศได้
- การดำเนินการร่วม (Joint Implementation: JI) เป็นกลไกที่เปิดโอกาสให้กลุ่มภาคี Annex I สามารถดำเนินโครงการต่าง ๆ ร่วมกันเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการลงทุนโครงการที่มีผลให้เกิดการลดปริมาณก๊าซใน ประเทศกลุ่ม Economic in Transition (EIT) หรือเศรษฐกิจเปลี่ยนผ่านที่ใช้ต้นทุนต่ำกว่าการลงทุนในลักษณะเดียวกันใน ประเทศอุตสาหะกรรม โดยจะมีการคิดคาร์บอนเครดิตให้ผู้ดำเนินการเป็นหน่วยปริมาณก๊าซที่สามารถลด ได้ (ERUs: Emission Reduction Units) ซึ่งภาคี Annex I สามารถนำ ERUs ที่ได้รับนี้ไปคำนวณเพื่อคิดปริมาณการปล่อยก๊าซโดยรวมทั้งหมดของประเทศ
จะเห็นได้ว่าพิธีสารเกียวโตได้สร้าง “คาร์บอน เครดิต” ขึ้นมาให้มีลักษณะเป็น “สินค้า” (Commodity) ชนิดหนึ่งที่สามารถมีการซื้อขายกันได้ในตลาดเฉพาะ ที่เรียกว่า “ตลาดคาร์บอน” แต่จะเป็นสินค้าที่อยู่ในลักษณะของเอกสารสิทธิของปริมาณก๊าซที่ลดได้และสามารถนำไปคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซโดยรวมของแต่ละประเทศได้2 อย่างไรก็ดี ราคาคาร์บอนเครดิตแต่ละประเภทนั้นย่อมแตกต่างกัน เช่น คาร์บอนเครดิตประเภทใบรับรอง หรือ CERs นั้น จะมีราคาต่ำกว่าราคาคาร์บอนเครดิตประเภท AAUs หรือปริมาณการปล่อยก๊าซที่ได้รับจัดสรร เพราะในการคิดราคา CERs ของโครงการ CDM ต้องมีการนำต้นทุนในการลงทุนโครงการ ตลอดจนนำปัจจัยความเสี่ยงและความไม่แน่นอนในผลของปริมาณก๊าซที่จะลดได้รวม คำนวณเข้าด้วย ในขณะที่คาร์บอนเครดิตประเภท AAUs หรือ ปริมาณการปล่อยก๊าซที่ได้รับจัดสรร นั้นไม่มีต้นทุนใด ๆ เลยเพราะเป็นเครดิตที่ได้รับจากพันธกรณีพิธีสารเกียวโตโดยตรงนั่นเอง
ปัจจุบันมีตลาดคาร์บอนอยู่หลายแห่งด้วยกัน โดยมีแหล่งซื้อขายใหญ่คือ ตลาดของกลุ่มสหภาพยุโรป และตลาดในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดภายในเนื่องจากประเทศสหรัฐอเมริกายังไม่ได้เข้าเป็นภาคีของพิธี สารเกียวโต