โครงการ เรดด์ และ เรดด์พลัส
REDD หรือ Reducing Emission from Deforestation and Forest Degradation หมายถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเนื่องจากการทําลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่า เนื่องจากมีข้อมูลจากรายงานของ IPCCหรือคณะกรรมการนานาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ระบุว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่าในเขตร้อนที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 20 ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งโลก ได้ถูกนําเสนอเข้าสู่เวทีการประชุมสมัชชารัฐภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP) โดยประเทศคอสตาริกาและประเทศปาปัวนิวกินีเป็นครั้งแรกในการประชุม COP 11 ที่เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา เมื่อปีพ.ศ. 2548 และได้มีการเจรจามาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน REDD เป็นการใช้แนวคิดว่าประเทศที่พัฒนาแล้วจะ จ่ายเงินเพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับประเทศกําลังพัฒนาที่สามารถจัดทําแนวทางในการลดการทําลาย ป่าและการทําให้ป่าเสื่อมโทรม ซึ่งต่อมาได้มีการขยายกิจกรรมโดยรวมถึงการดําเนินการที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์การจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน รวมทั้งการเพิ่มพูนคาร์บอนสต็อคในพื้นที่ป่า และเรียกรวมว่า REDD-Plus (REDD+) ซึ่งเป็นมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกที่กําลังได้รับการส่งเสริมจากนานาประเทศเพื่อต่อสู้กับภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ประเทศที่พัฒนาแล้วมีโอกาสที่จะใช้คาร์บอนเครดิตจากกลไกเรดด์พลัสเพื่อช่วยให้บรรลุเป้าหมายพันธกรณีการลดก๊าซ เนื่องจากการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคป่าไม้มีต้นทุนต่ำกว่าการลดก๊าซในภาคอุตสาหกรรมในขณะเดียวกันประเทศกำลังพัฒนาขนาดใหญ่ที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจและมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณสูง ก็ถูกกดดันให้มีความรับผิดชอบในการลดก๊าซมากขึ้น มีโอกาสใช้กลไกเรดด์พลัสเป็นกิจกรรมสำคัญเพื่อการลดก๊าซเรือนกระจกและยังมีโอกาสได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากประเทศที่พัฒนาแล้วมากขึ้น
เรดด์พลัส มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์ป่าไม้ โดยได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากประเทศอุตสาหกรรม มีข้อตกลงกำหนดให้ค่าตอบแทนในรูปแบบของกองทุนระหว่างประเทศ เงินสนับสนุนอาจจะผ่านหน่วยงานรัฐ ปัจจุบัน มีการจัดทำโครงการนำร่องเกี่ยวกับเรดด์พลัส เพื่อดูว่าในการดำเนินงานเรดด์พลัสนั้นจริงๆ ต้องทำอะไรบ้าง โครงการนำร่องที่เด่นๆ คือ
- โครงการ FCPF –โครงการหุ้นส่วนคาร์บอนป่าไม้ ซึ่งสนับสนุนโดยธนาคารโลก
- โครงการยูเอ็น-เรดด์ ความร่วมมือระหว่างโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) และองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO))
3.โครงการเรดด์พลัสภาคสมัครใจในระดับท้องถิ่นซึ่งจัดทำโดยบริษัทเอกชน รัฐบาลและกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
ประเทศไทยได้แสดงท่าทีสนับสนุนการดําเนินการตามกลไก REDD โดยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกในกลุ่มประเทศป่าฝนเขตร้อน(Rainforest Coalition) ซึ่งมีจุดยืนสนับสนุนการใช้กลไกตลาด และได้เสนอชื่อเข้าร่วมในโครงการเตรียมความพร้อมการดำเนินงาน เรดด์พลัสของธนาคารโลก มีสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ทำหน้าที่ในฐานะหน่วยงาน กลางประสานเรื่อง REDD
- ปลายปี 2551 ประเทศไทยโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เสนอกรอบแนวทางการจัดทำโครงการเรื่องเรดด์ (R-PIN) ต่อกองทุน FCPF (ธนาคารโลก) และ ได้รับการพิจารณาอนุมัติในเดือนมีนาคม 2552
- พื้นที่ที่จะทำโครงการนำร่องเรดด์ คือ อ.สวนผึ้ง กิ่ง อ.บ้านคา จังหวัดราชบุรี และ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี มีพื้นที่ 20 หมู่บ้าน เป็นพื้นที่เก่าของโครงการแนวเชื่อมต่อเทือกเขาตะนาวศรี ที่ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารพัฒนาเอเซีย หรือ เอดีบี ปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงการจัดทำแผนการดำเนินงาน หรือ R-PP
โครงการ เรดด์พลัส มีความเป็นไปได้มากที่จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต และสิทธิในการใช้ การถือครองและการจัดการที่ดินและทรัพยากรของชนเผ่าพื้นเมืองและประชาชนที่ต้องอาศัยอยู่กินกับทรัพยากรป่าไม้ และอาจจะมีผลกระทบทั้งในด้านที่ดีขึ้นหรือเลวลง
เรดด์พลัสที่กำลังดำเนินงานอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน พื้นที่ป่าหลายแห่งเป็นเขตแดนตามกฎจารีตและประเพณีของชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งบางชุมชนได้อยู่อาศัยในพื้นที่ป่าเหล่านี้เป็นเวลานานหลายร้อยหรือหลายพันปีมาแล้ว มีการใช้ภูมิปัญญาในการอนุรักษ์ และจัดการป่า มีการจัดการการใช้ที่ดินตามประเพณีซึ่งทำให้ภูมิประเทศมีความหลากหลายทางชีวภาพเพิ่มมากขึ้น แต่โครงการเหล่านี้ บางอย่างอาจจะมีผลกระทบเชิงลบที่รุนแรงต่อชนเผ่าพื้นเมือง
โดยโครงการเรดด์พลัส อาจจะสร้างกฎเกณฑ์ มีการควบคุมการดำเนินกิจกรรม เช่น การทำไร่ การเก็บหาอาหารและสมุนไพร การตัดฟืนและไม้สำหรับการก่อสร้างหรือการใช้ประโยชน์ในทรัพยากรอื่น ๆ ของป่า เป็นไปได้ว่าโครงการเรดด์พลัสมีผลกระทบโดยตรงต่อชนเผ่าพื้นเมืองและประชาชนที่ต้องอาศัยทรัพยาการป่าไม้ ในการดำรงชีพ
ชนเผ่าพื้นเมืองทั่วโลกเริ่มมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับโครงการเรดด์พลัสเนื่องจากประสบการณ์ในอดีตที่ผ่านมา รัฐบาลและบริษัทเอกชน บ่อยครั้งที่มักจะปฏิเสธที่จะรับรองสิทธิและผลประโยชน์ในนโยบายและโครงการที่เกี่ยวกับป่าไม้
นอกจากนี้ชนเผ่าพื้นเมืองยังมีความกังวลในผลกระทบของโครงการเรดด์พลัสที่มีต่อสิทธิในที่ดินหรือการยอมรับการถือครองที่ดิน ทั้งนี้เนื่องจากว่าไม่มีกฎหมายของรัฐในระดับชาติและนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับเรดด์พลัสที่ให้ความมั่นคงในเรื่องการถือครองที่ดินเป็นเงื่อนไข ก่อนที่จะดำเนินการโครงการเรดด์พลัส เช่นเดียวกันกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับการให้สัมปทานเหมืองแร่หรือการทำไม้ เป็นไปได้ที่รัฐบาลจะเลือกขายสิทธิในคาร์บอนบนที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ โดยไม่มีการอ้างอิงหรือปรึกษาหารือกับผู้ครอบครองตามประเพณีในที่ดินเหล่านี้
แต่โครงการเรดด์พลัส ก็อาจเป็นโอกาสใหม่ที่ช่วยให้ชนเผ่าพื้นเมืองได้รับการเคารพในสิทธิขั้นพื้นฐาน ถ้าหากว่ามีการควบคุมการออกแบบการจัดการโครงการเรดด์พลัสให้อยู่ในมือของชนเผ่าพื้นเมืองและผู้ที่อยู่อาศัยในเขตป่า จุดยืนขององค์กรชนเผ่าพื้นเมืองในเรืองเรดด์พลัสจึงค่อนข้างแตกต่างกัน บางกลุ่มก็คัดค้านบางกลุ่มก็ยอมรับว่าอาจมีผลประโยชน์หากมีการเรียกร้องให้จุดยืนของชนเผ่าพื้นเมืองนั้นถูกรวมเอาไว้ในกระบวนการระดับชาติและนานาชาติ
กล่าวโดยสรุปผลกระทบที่อาจเกิดกับชุมชนคือ
- การเพิกเฉยต่อสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง มีการอพยพและแย่งชิงทรัพยากรที่ดิน
- ความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ เนื่องจากป่าไม้มีมูลค่ามากขึ้น
- ผลกระทบต่อรูปแบบการใช้ที่ดินของชนเผ่าพื้นเมือง เช่น การทำไร่หมุนเวียน และการใช้ประโยชน์จากป่า
- การควบคุมการใช้ประโยชน์ของประชาชนในเขตป่าเข้มข้นมากขึ้น
- “สิทธิ” และ “การมีส่วนร่วม” ของประชาชนกับ REDD+
ไม่ว่ากรณีใด ๆ ก็ตามชุมชน ควรจะรู้ว่าเรดด์พลัสคืออะไร อะไรคือผลประโยชน์ อะไรคือผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้น เพื่อที่จะได้เตรียมพร้อมและสามารถเจรจาและปกป้องสิทธิได้ กรณีที่โครงการเรดด์พลัสจะเข้ามาดำเนินการในพื้นที่
สิ่งที่ชุมชนสามารถทำได้
ปฏิญญาฯ ในฐานะเป็นกรอบการทำงานสำหรับการเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของชนเผ่าพื้นเมือง ได้กำหนดแนวทางในการดำเนินการต่อไปของชนเผ่าพื้นเมืองและชุมชน ดังต่อไปนี้
๑. ทำความเข้า ใจเกี่ยวกับแนวคิดและแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและ การทำให้ป่าเสื่อมโทรมในประเทศกำลังพัฒนา หรือ เรดด์พลัสให้ถ่องแท้
๒. รณรงค์และ สร้างความตระหนักให้กับสมาชิกในชุมชนและชุมชนอื่นๆ ที่สนใจในเรื่องปัญหาโลกร้อนและผลกระทบจากแนวทางการแก้ไขปัญหาดัง กล่าว เช่น เรดด์พลัส
๓. ประสานงาน และสร้างความสัมพันธ์กับชนเผ่าพื้นเมืองและชุมชนอื่น ๆ รวมทั้งรัฐบาล องค์กรพัฒนาเอกชนและสถาบันต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
๔. ส่งเสริม ศักยภาพของชุมชนในการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยน แปลงสภาพภูมิอากาศโดยใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้านและการจัดการป่าไม้อย่าง ยั่งยืนโดยเน้นการพัฒนาที่กำหนดด้วยตัวชุมชนเอง
๕. แลกเปลี่ยน ข้อมูลกับชุมชนอื่น ๆ ในเรื่องที่เกี่ยวกับยุทธศาสตร์การลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวที่พัฒนาบน ฐานของภูมิปัญญาพื้นบ้านและการปฏิบัติ เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้ที่ดิน น้ำ การทำการเกษตรตามประเพณี การจัดการป่าไม้และความหลากหลายทางชีวภาพและการเกษตร การเลี้ยงสัตว์ ยาสมุนไพร ฯลฯ
๖. เข้าร่วม เวทีการประชุมที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับ ต่าง ๆ (ระดับท้องถิ่น ระดับชาติ) และนำเสนอ จุดยืนของชุมชนและการปกป้องสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองเท่าที่เป็นไป ได้
๗. สนับสนุนการ รณรงค์เพื่อให้มีการดำเนินการตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้น เมือง
๘. ส่งเสริมและ พัฒนาภูมิปัญญาพื้นบ้าน เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพในเขตชุมชนของเรา
๙. ร่วมคัดค้าน โครงการและนโยบายที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการ ละเมิดสิทธิของพวกเรา เช่น การทำเหมืองแร่ การทำไม้ การสร้างเขื่อน ฯลฯ
๑๐. มีส่วนร่วม อย่างเต็มที่ในการจัดทำนโยบายแห่งชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพ ภูมิอากาศ