โครงการเรดด์พลัสในประเทศไทย
โครงการเรดด์พลัส หรือ โครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและการทำให้ป่าเสื่อมโทรมในประเทศกำลังพัฒนา เป็นอีกหนึ่งแนวทางของการแก้ไขปัญหาโลกร้อนโดยใช้ภาคป่าไม้ ซึ่งในประเทศไทย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบในการดำเนินงานโครงการนี้ มีกระบวนการดำเนินงานแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ
- ระยะที่หนึ่ง เป็นระยะการเตรียมความพร้อม (Readiness phase)
- ระยะที่สอง เป็นระยะการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ที่ได้จากการดำเนินงานในระยะที่หนึ่ง (Implementation phase)
- ระยะที่สาม เป็นระยะของการจ่ายเงิน (Result-based payment)
ประเทศต่างๆที่ทำโครงการเรดด์พลัส ในเอเชีย เช่น เวียตนาม ลาว กัมพูชา อินโดนีเซีย เนปาล รวมทั้งประเทศไทยส่วนใหญ่ยังอยู่ในระยะที่หนึ่ง นั่นคือ อยู่ในช่วงของการเตรียมความพร้อม ซึ่งก่อนที่จะมีการดำเนินงานของโครงการในระยะที่หนึ่งได้นั้น ประเทศที่ทำโครงการเรดด์พลัสต้องจัดทำเอกสารโครงการเสนอให้กับแหล่งทุนที่สนับสนุนโครงการนี้ก่อน เอกสารที่ว่านี้ คือ “ข้อเสนอในการเตรียมความพร้อมต่อกลไกเรดด์พลัส” (Readiness preparation proposal – R-PP) หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “เอกสาร อาร์ พีพี” สำหรับประเทศไทยนั้น ได้ปรับปรุงเนื้อหาของเอกสารดังกล่าวเพื่อนำเสนอให้กับคณะกรรมการบริหารโครงการกองทุนหุ้นส่วนคาร์บอนป่าไม้ ของธนาคารโลกพิจารณาอีกครั้งตามมติของที่ประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการครั้งที่ 14 ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงวอชิงตันดีซี เมื่อเดือนมีนาคม 2556
“ข้อเสนอในการเตรียมความพร้อมต่อกลไกเรดด์พลัส” (Readiness preparation proposal – R-PP) หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “เอกสาร อาร์ พีพี” เอกสารนี้มีความสำคัญอย่างไร? เอกสารนี้ถือว่าเป็นพิมพ์เขียว หรือ กรอบที่ทางกรมอุทยานแห่งชาติ จะนำไปใช้สำหรับการดำเนินงานโครงการเรดด์พลัสในระยะที่หนึ่ง ซึ่งใช้เวลาประมาณ 4 ปี คือ เริ่มปี พ.ศ. 2557 – 2560 ดังนั้นเอกสารนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจและเรียนรู้ในรายละเอียดให้ถ่องแท้ เอกสาร R-PP มีเนื้อหาอยู่ทั้งหมด 6 ส่วนหรือ 6 องค์ประกอบ นั่นคือ
- องค์ประกอบที่ 1 : เกี่ยวกับองค์กรและการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
- องค์ประกอบที่ 2 : การจัดเตรียมยุทธศาสตร์เรดด์พลัส
- องค์ประกอบที่ 3 : การพัฒนาระดับการปล่อยอ้างอิง
- องค์ประกอบที่ 4 : การออกแบบระบบการติดตามป่าไม้แห่งชาติและข้อมูลข่าวสารการปกป้องผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
- องค์ประกอบที่ 5 : กำหนดการและงบประมาณ
- องค์ประกอบที่ 6 : การออกแบบกรอบการติดตามและการประเมินผล
องค์ประกอบที่ 1 เป็นเนื้อหาที่พูดถึง องค์กรและการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
องค์ประกอบนี้มีเนื้อหาหลักๆ อยู่ 2 ส่วนคือ
1) การเตรียมความพร้อมในระดับประเทศ
2) การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
1) การเตรียมความพร้อมในระดับประเทศ
ในส่วนของการเตรียมความพร้อมในระดับประเทศนั้นเนื้อหาหลักพูดถึงนโยบายและกลไกการทำงานของรัฐที่มีอยู่แล้ว หรือที่รัฐกำลังจะตั้งใหม่เพื่อใช้จัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ชุมชนในภาคส่วนต่างๆ กำลังเผชิญอยู่ นโยบายและกลไกในระดับประเทศที่สำคัญๆ มีดังนี้ คือ
1.ร่างแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย (พ.ศ. 2556-2593) แผนแม่บทฉบับนี้เป็นแผนการดำเนินงานระยะยาวที่ภาครัฐ โดยสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) จัดทำขึ้นมาโดยมีการปรึกษาหารือกับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้รับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการนำเสนอให้กับคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติเพื่อพิจารณา เป้าหมายสูงสุดของแผนแม่บทฯ ดังกล่าว คือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศสังคมคาร์บอนต่ำภายใน 40 ปีข้างหน้า หรือปี พ.ศ. 2593
การเตรียมความพร้อมในระดับประเทศ มีนโยบายและกลไกการทำงานที่ประกอบด้วยคณะทำงานคณะต่างๆ เพื่อช่วยให้กระบวนการโครงการเรดด์พลัส ขับเคลื่อนไปได้ ดังนี้
1.1คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ เป็นกลไกที่จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ 2550 มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานและมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นรองประธาน มีคณะกรรมการที่มาจากหน่วยงานภาคส่วนต่างๆ ของรัฐ เช่น ปลัดกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวง เกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงพลังงาน กระทรวง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอุตสาหกรรม เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 5-9 ท่าน เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ด้าน เศรษฐกิจด้านสิ่งแวดล้อม นักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี และพลังงาน
คณะกรรมการฯ ดังกล่าวมีหน้าที่กำหนดและควบคุมดูแลนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สำคัญในด้านการลดก๊าซเรือนกระจก การปรับตัวเข้ากับผลกระทบและความเสี่ยงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการวิจัยและการพัฒนา และให้คำแนะนำเรื่องท่าทีของประเทศเมื่อต้องเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นต่อเวทีการประชุมของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเวทีการประชุมระหว่างประเทศ โดยจะมีการจัดตั้งสำนักงานความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขึ้นภายใต้สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อทำหน้าที่เลขานุการ ภายใต้คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติประกอบด้วยคณะอนุกรรมการ 2 คณะ คือ คณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านวิชาการ และคณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านการประสานท่าทีไทยในการเจรจา ซึ่งรับผิดชอบงานด้านวิชาการ การเจรจา และการประสานงาน ภายใต้คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติประกอบด้วยคณะอนุกรรมการ 2 คณะ คือ
- คณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านวิชาการ
- คณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านการประสานท่าทีไทยในการ
คณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านวิชาการ มีปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน และมีสมาชิกคณะอนุกรรมการฯ ประกอบด้วยผู้แทนจากกระทรวงที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนด้านวิชาการให้แก่คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติสำหรับการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คณะอนุกรรมการฯ ชุดนี้ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานประสานนโยบายสำหรับกลไกเรดด์พลัสในช่วงของกระบวนการเตรียมความพร้อม
คณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านการประสานท่าทีไทยในการเจรจานั้น มีอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ และเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานร่วม โดยมีสมาชิกคณะอนุกรรมการฯ ประกอบด้วยผู้แทนจากกระทรวงที่เกี่ยวข้องเพื่อให้คำแนะนำเรื่องท่าทีของประเทศในการแสดงความคิดเห็นต่อการจัดทำเอกสารบทความระหว่างประเทศและเวทีการประชุมระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ ภายใต้คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติได้มีการจัดตั้งผู้ประสานงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประกอบด้วยหน่วยงานระดับกระทรวง 19 หน่วยงาน และหน่วยงานที่มิใช่กระทรวง 11 หน่วยงาน คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติเป็นองค์กรระดับชาติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นโยบายระดับชาติทั้งหมดต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการฯ ชุดนี้และมอบหมายให้องค์กรที่เกี่ยวข้องนำไปดำเนินการ โดยองค์กรที่เกี่ยวข้องดังกล่าวสามารถเสนอนโยบายที่เกี่ยวข้องให้คณะกรรมการฯ ชุดนี้อนุมัติได้ ซึ่งโครงสร้างด้านการจัดทำนโยบายนี้จะช่วยสนับสนุนการดำเนินงานการเตรียมความพร้อมต่อกลไกเรดด์พลัสได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยโครงสร้างการทำงานประกอบด้วย
ภายใต้โครงสร้างด้านการจัดทำนโยบายดังกล่าว เพื่อช่วยสนับสนุนการดำเนินงานการเตรียมความพร้อมต่อกลไกเรดด์พลัสได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น จะเห็นได้ว่า มีคณะทำงานพิเศษอีกคณะหนึ่ง คือ คณะทำงานเฉพาะกิจด้านเรดด์พลัส
คณะทำงานเฉพาะกิจด้านเรดด์พลัส
คณะทำงานเฉพาะกิจด้านเรดด์พลัส ตั้งขึ้นในปี 2554 หลังจากที่รัฐบาลไทยตัดสินใจเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนการดำเนินงานเรดด์พลัส คณะทำงานนี้เป็นแบบบูรณาการระหว่างกระทรวง ปัจจุบันคณะทำงานเฉพาะกิจด้านกลไกเรดด์พลัสในประเทศไทยมีอธิบดีกรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นประธาน และมีผู้แทนจากหน่วยงานรัฐหลักที่มีส่วนเกี่ยวข้องมาร่วมเป็นคณะทำงานด้วย
คณะทำงานเฉพาะกิจด้านเรดด์พลัสอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านวิชาการ
ในปี พ.ศ. 2556 ได้มีการเสนอให้ปรับปรุงองค์ประกอบคณะทำงานเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้แก่คณะทำงานเฉพาะกิจด้านเรดด์พลัสเพื่อการเตรียมความพร้อมด้านกลไกเรดด์พลัสในประเทศไทย โดยการปรับองค์ประกอบของสมาชิกคณะทำงานและเพิ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและนอกภาครัฐ เช่น องค์กรภาคประชาสังคม ชุมชนท้องถิ่นที่พึ่งพิงป่าไม้ องค์กรภาคเอกชน สถาบันวิชาการและสถาบันวิจัย ผู้แทนแต่ละท่านได้รับการเสนอชื่อโดยสถาบันที่เกี่ยวข้อง ผ่านกระบวนการคัดสรรของตนเอง
หน้าที่หลักของคณะทำงานเฉพาะกิจด้านเรดด์พลัสได้แก่
- จัดทำแนวทางสำหรับกิจกรรมความพร้อมต่อกลไกเรดด์พลัส
- จัดทำแผนปฏิบัติงานตามนโยบายและยุทธศาสตร์กลไกเรดด์พลัส
- แต่งตั้งคณะทำงานด้านวิชาการสำหรับการเตรียมความพร้อมกลไกเรดด์พลัสตามที่กำหนดไว้
- ทบทวนแผน/โครงการ/ข้อเสนอ ที่เกี่ยวข้องกับกลไกเรดด์พลัส
- ให้การสนับสนุนด้านวิชาการแก่คณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านวิชาการ
- ประสานงานกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ข้อมูลที่จำเป็นสำหรับกิจกรรมกลไกเรดด์พลัส
- จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการและสัมมนาที่สนับสนุนกิจกรรมกลไกเรดด์พลัส
- ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมกลไกเรดด์พลัสตามที่ได้รับมอบหมายโดยคณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านวิชาการ
ในช่วงระยะเวลาของการเตรียมความพร้อมนี้ คณะทำงานเฉพาะกิจด้านเรดด์พลัส จะมีอำนาจในการจัดตั้งคณะทำงานด้านวิชาการและหน่วยงานเพื่อดำเนินการ ได้จำนวนหนึ่ง เช่น
คณะทำงานวิชาการในด้านต่างๆ (นโยบายและแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน, ยุทธศาสตร์ของเรดด์พลัส, การวิเคราะห์โครงสร้างองค์กร, การพัฒนาระบบเส้นฐานอ้างอิง และกลไกการติดตาม การรายงานและการทวนสอบ (MRV), กลไกการเงินและการแบ่งปันผลประโยชน์, การประเมินสิ่งแวดล้อมและสังคมและการจัดทำมาตรการปกป้อง,การประสานงานกับผู้มีส่วนได้เสีย
นอกจากนี้ก็มีการจัดตั้งสำนักงานกลไกด้านเรดด์พลัสและศูนย์ข้อมูลกลไกด้านเรดด์พลัส และศูนย์ประสานงานเรดด์พลัสระดับภูมิภาค แต่ละคณะทำงานและศูนย์ที่ตั้งขึ้นก็จะมีบทบาทและหน้าที่เฉพาะ แต่โดยรวมแล้วคือ เพื่อช่วยผลักดันในกิจกรรมการดำเนินงานของเรดด์พลัสให้บรรลุผลตามเป้าหมาย
คณะทำงานเฉพาะกิจด้านเรดด์พลัสจะรายงานผลการปฏิบัติงานต่อคณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านวิชาการและจัดทำข้อเสนอแนะด้านนโยบายและการควบคุมกำกับดูแลให้คณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านวิชาการรับรองต่อไป
2) การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
เป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญอีกกิจกรรมหนึ่ง เพราะถ้าต้องการการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ เข้ามาร่วมดำเนินงานโครงการเรดด์พลัส ทุกภาคส่วน ต้องมีความเข้าใจและสามารถเข้ามาร่วมได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ ในเอกสาร R-PP ระบุถึงกิจกรรมที่องค์กรของรัฐและหน่วยงานต่างๆ (ภาคประชาสังคม) ได้ทำมาแล้วในเรื่องการเผยแพร่ข้อมูลและการพัฒนาศักยภาพในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับโลกร้อนและเรดด์พลัส รวมทั้งกิจกรรมที่ทางกรมอุทยานได้ดำเนินไปแล้วกิจกรรมที่สำคัญๆ เช่น
– กระบวนการเสริมสร้างกิจกรรมการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมในการจัดทำข้อเสนอการเตรียมความพร้อมต่อกลไกเรดด์พลัส (อาร์พีพี)
– การวิเคราะห์และกำหนดผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มใหญ่ๆ คือ หน่วยงานภาครัฐระดับประเทศ, ภาคประชาสังคม, ชุมชนท้องถิ่นที่พึ่งพิงป่า, ภาคเอกชน/อุตสาหกรรม และสถาบันการศึกษา
– การจัดเวทีสนทนา และการเผยแพร่ข้อมูลที่ได้ดำเนินการ
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้จัดชุดการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลายภาคส่วน โดยจัดการประชุมในระดับชาติจำนวน 2 ครั้ง และระดับภูมิภาคจำนวน 6 ครั้ง ในช่วงปี 2555 มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้รับทราบเกี่ยวกับเรื่องกลไกเรดด์พลัส และการจัดทำข้อเสนอโครงการฯ ของประเทศไทย
ประเด็นหลักที่มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในระหว่างการประชุม ได้แก่
- สาเหตุของการทำลายป่าและทำให้ป่าเสื่อมโทรมในประเทศ
- การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการตัดไม้ทำลายป่า และการทำให้ป่าเสื่อมโทรม
- บทบาทและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีต่อกลไกเรดด์พลัส
- การเตรียมความพร้อมต่อกลไกเรดด์พลัสของประเทศไทย
- ความเกี่ยวข้องของเรดด์พลัสกับสังคมและสิ่งแวดล้อม
- ชุมชนท้องถิ่นจะเข้ามามีบทบาทในกลไกเรดด์พลัสได้อย่างไร
ผลกระทบของเรดด์พลัสที่มีต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และแนวทางการลดผลกระทบ อันได้แก่
- การครอบครองที่ดิน และสิทธิในการใช้ที่ดิน
- ความเป็นเจ้าของคาร์บอนและต้นไม้
- การจัดสรรผลประโยชน์อย่างเท่าเทียม
- ธรรมาภิบาลภาคป่าไม้
- กรอบการจัดตั้งองค์กร นโยบาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องกับเรดด์พลัส
- ค่าเสียโอกาสในการใช้ที่ดิน
- ความสนใจของชุมชนที่พึ่งพิงป่า
- ระบบติดตามการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ป่า และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าที่มีอยู่และที่จะพัฒนาขึ้นในอนาคต
- การมีส่วนร่วมอย่างเป็นรูปธรรมในการวางแผนและดำเนินงานเรดด์พลัส
การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวถูกวิพากย์จากภาคประชาสังคมว่ามีการจัดทำอย่างรีบเร่ง และไม่ได้เน้นการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ทางกรมอุทยานต้องจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมอีก 5 ครั้งในช่วงปี 2556
จากการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น สามารถสรุปประเด็นหลักที่เกี่ยวข้อง ข้อกังวล และเสนอแนะ ที่ได้จากการประชุมระดับชาติและภูมิภาคร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเวทีสุนทรียสนทนาระดับภูมิภาคและระดับชาติทั้ง 2 รอบ ร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคม ชุมชนท้องถิ่นที่พึ่งพิงป่าและกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่บนพื้นที่สูงมีดังต่อไปนี้
ข้อกังวล
- ชุมชน มีความกังวลว่า หากมีการดำเนินงานเรดด์พลัส ได้แก่ ความมั่นคงทางด้านอาหารของชุมชน เนื่องจากพื้นที่เกษตรกรรมไม่สามารถขยายได้ อาจเกิดความขัดแย้งภายในชุมชนเกี่ยวกับเรื่องการใช้ที่ดิน เช่น การขยายพื้นที่เกษตรกรรมกับการอนุรักษ์พื้นที่ป่า การลดลงของรายได้ที่เกิดจากผลผลิตทางการเกษตร มีความเสี่ยงที่นักการเมืองจะใช้ประเด็นเรดด์พลัสมาเป็นเครื่องมือในการต่อรองเรื่องที่ดิน ความกลัวว่าจะต้องย้ายออกจากพื้นที่เดิม และความเสี่ยงต่อโอกาสที่สัตว์ป่าจะเข้าทำลายผลผลิตทางการเกษตรของชุมชนเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของความหลากหลายทางชีวภาพ
- การนำความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชนมาใช้ในกระบวนการตัดสินใจของเรดด์พลัส โดยจะต้องมั่นใจว่าการดำเนินงานเรดด์พลัสจะไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งกับวิถีการดำรงชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่น
- ประเด็นเรื่องสิทธิในที่ดิน และแนวเขต เป็นข้อกังวลในทุกเวทีสนทนา
- ประเด็นด้านธรรมาภิบาลภาคป่าไม้ได้มีการนำเสนอในประเด็นของการคอรัปชั่น และการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่มีประสิทธิภาพ
- ในเวทีสุนทรียสนทนาของชุมชนท้องถิ่น ได้ยกประเด็นเรื่องสิทธิในที่ดิน และสิทธิในการใช้ประโยชน์ ที่ดิน ซึ่งควรมีการกำหนดให้ชัดเจน
- ควรสร้างความมั่นใจในกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียจากทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง
- คณะทำงานร่าง R-PP ขาดมิติทางด้านสังคมและมนุษย์ เน้นแต่มิติทางวิทยาศาสตร์
- หากเรดด์พลัสยังอยู่บนการมีส่วนร่วมของประชาชนต้องมีการทำร่วมกันในพื้นที่ของประชาชน ซึ่งงบประมาณการสร้างพื้นที่นำร่องต้องมีน้ำหนักมากและต้องอยูในระดับต้นๆ กิจกรรมที่เป็นสิ่งจูงใจยังคงขาดงบประมาณในจุดนี้
- หลังจากที่เสนอ ครม. แล้ว โครงการ REDD+ จะมีขั้นตอน-กลไก ในการบริหารงานเป็นอย่างไร คนในท้องถิ่นจะมีส่วนร่วมมากน้อยแค่ไหน ผลประโยชน์ที่แท้จริงจะเกิดกับชุมชนมากน้อยแค่ไหน
- การที่ REDD+ จะประสบความสำเร็จได้ต้องแก้ไขปัญหาเดิมที่มีอยู่ให้ได้เสียก่อน ซึ่งนั่นคือ ต้องมีการรับรองสิทธิชุมชน การปฏิรูปกฎหมายป่าไม้ การกำหนดขอบเขตที่ดินที่แน่นอน
ข้อเสนอแนะที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นที่สำคัญๆ เช่น
- การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการดำเนินงานเรดด์พลัส โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคประชาสังคมและชุมชนท้องถิ่น บทบาทของภาคประชาสังคมในขบวนการตัดสินใจในระดับต่าง ๆ รวมถึงคณะทำงานเฉพาะกิจด้านเรดด์พลัส รูปแบบการทำงานแบบ “จากล่างสู่บน” ที่เป็นรูปธรรม และการส่งผ่านข้อมูลจากระดับชุมชนไปยังคณะทำงาน/คณะกรรมการที่มีอำนาจ
- การสร้างกลไกการแบ่งปันผลประโยชน์ที่โปร่งใสและเป็นธรรม ชุมชนท้องถิ่นเสนอว่าผลประโยชน์อื่นที่จะได้รับจากการดำเนินงานเรดด์พลัส ในเรื่องของการอนุรักษ์ป่าไม้ การจ่ายค่าบริการทางระบบนิเวศและการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพควรจะต้องมีการดำเนินการและควรเป็นส่วนหนึ่งของแผนการพัฒนาหมู่บ้านด้วย
- ควรให้มีการเสริมสร้างศักยภาพ และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเรดด์พลัส มีเนื้อหาของร่างข้อเสนอที่อ่านเข้าใจง่าย และมีสื่อแบบหลากหลายรูปแบบ รวมทั้งเปิดโอกาสให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนทุกกลุ่ม ทั้งระดับประเทศ ระดับจังหวัด ชุมชนท้องถิ่น องค์การพัฒนาเอกชน และอื่นๆ รับทราบข้อมูล และเสนอข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะ ผ่านทาง Social media เช่น เวปเพจ เฟซบุ๊ค อย่างเป็นรูปธรรม
- ให้ใช้กระบวนการแจ้งล่วงหน้าและการหารือ (FPIC) เป็นแนวทางการดำเนินงานเรดด์พลัส
ควรทบทวบและวิเคราะห์ นิยาม คำว่า “สาเหตุการทำลายป่า” ควรระบุสาเหตุหลักในการทำลายป่า เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน นโยบายหรือแผนเศรษฐกิจ สาเหตุการทำให้ป่าเสื่อมโทรม