ป่า คนกะเหรี่ยง และอำนาจรัฐไทย
“ทรัพยากรมนุษย์ที่เป็นชนพื้นเมืองกลับถูกตีความไม่ถือเป็นทรัพยากรและถูกขีดออกไปจากนิยาม การเป็นชนหมู่น้อยจึงถูกจำกัดในสิทธิและสวัสดิการด้วยเงื่อนไขความยากต่อการทำหน้าที่ของรัฐ ถูกผลักดันให้เป็นคนป่า ชาวเขา ชนเผ่าเร่ร่อน ถูกเลือกปฏิบัติและรังเกียจเดียดฉันท์รวมถึงเอารัดเอาเปรียบ”
กลุ่มคนต่างๆ ที่มีแหล่งกำเนิดหรือสถานที่แรกเริ่ม (in situ) เป็นที่อยู่อาศัยและทำมาหากินอย่างพึ่งพิงและเอื้อเฟื้อกันทุกสรรพสิ่งในอาณาเขตบริการของระบบนิเวศ (ecology service) จึงเป็นชนพื้นเมือง (indigenous people) ของพื้นที่นั้นๆ โดยมีป่าไม้เป็นสิ่งปกคลุมพื้นที่ (land cover) และให้บริการกับสิ่งมีชีวิตที่มีวิวัฒนาการมาหลายพันปี ต่อมาในช่วงเวลาร้อยปีมานี้อำนาจของรัฐประเทศขยายอิทธิพลจากการศึกสงครามเปลี่ยนความต้องการเสบียงศึกมาถึงยุคเศรษฐกิจสร้างรายได้ สิ่งทั้งปวงที่นำมาผลิตเป็นสินค้าได้จึงเป็นทรัพยากรที่รัฐพึงต้องได้รับส่วนแบ่งจากมูลค่าสินค้าภายใต้อำนาจอธิปไตย (sovereignty) รวมถึงพื้นที่อาณานิคม (colony) ทั้งหลาย การผูกขาดด้วยอำนาจอธิปไตยแห่งรัฐแสดงถึงความเป็นเจ้าของในทรัพยากรทั้งปวง ทรัพยากรมนุษย์ที่เป็นชนพื้นเมืองกลับถูกตีความไม่ถือเป็นทรัพยากรและถูกขีดออกไปจากนิยาม แต่จัดให้อยู่ในหมู่พลเมืองแห่งรัฐที่เป็นชนกลุ่มน้อย (minority) การเป็นชนหมู่น้อยจึงถูกจำกัดในสิทธิและสวัสดิการด้วยเงื่อนไขความยากต่อการทำหน้าที่ของรัฐ ถูกผลักดันให้เป็นคนป่า ชาวเขา ชนเผ่าเร่ร่อน และอ้างความยากลำบากในการติดตามตัว จนคนเหล่านี้ถูกละเลยและถูกตีตราสื่อสารให้เกิดความสัมพันธ์แบบมีปัญหากับคนกลุ่มใหญ่ ถูกเลือกปฏิบัติและรังเกียจเดียดฉันท์รวมถึงเอารัดเอาเปรียบ ซึ่งเป็นภาพอดีตที่สังคมไทยยังขาดการเรียนรู้การอยู่ร่วมกันภายใต้อำนาจอธิปไตย ปัจจุบันพลังของการเคลื่อนไหวก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวโยงกันหลายด้านทั้งทางการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม การเรียนรู้เข้าถึงชนพื้นเมือง จึงมีพื้นที่ทางสังคมเพิ่มขึ้นภายใต้การสร้างกลไกการป้องกันตัวเองตามการตัดสินใจขั้นพื้นฐาน การพัฒนาใดๆ หากดำเนินการด้วยความเข้าใจ เข้าถึง แล้วจึงค่อยๆ พัฒนา จะเป็นโอกาสทองของการสร้างความมั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืนได้
ชนพื้นเมืองชาวกะเหรี่ยงที่มีเอกลักษณ์ในการใช้ที่ดินป่าไม้ด้วยระบบไร่หมุนเวียนสร้างเสริมระบบนิเวศป่าไม้ในถิ่นที่อยู่อาศัยให้มีความหลากหลายทางชีวภาพ ได้กลายเป็นคนกลุ่มน้อยที่ถูกเหมารวมอยู่ในกลุ่มของคนทำลายป่าจากการใช้ที่ดินทำไร่หมุนเวียน ในยุคการอนุรักษป่าโดยอำนาจรัฐเพิ่มความเข้มข้นในแนวทางการรักษาและเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ การสนองตอบต่อแนวนโยบายแห่งรัฐของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานจึงใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “กฎหมาย” เข้ามาดำเนินการต่อกลุ่มคนอยู่กับป่าอย่างต่อเนื่อง อย่างกรณีของกะเหรี่ยงกลุ่มป่าแก่งกระจานที่ตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนอยู่ในผืนป่ามายาวนานเป็นศตวรรษ กลับต้องถูกอพยพออกจากป่าโดยภาครัฐด้วยการอ้างเหตุผลด้านความมั่นคงแต่ไม่สามารถจัดสรรที่ดินทำกินให้ครัวเรือนที่ถูกอพยพลงมาได้อย่างเหมาะสม พวกเขาต้องไปอยู่กับเครือญาติ เป็นปัญหายาวนานมากว่า 20 ปี จวบจนปัจจุบันครัวเรือนกะเหรี่ยงกลุ่มป่าแก่งกระจานที่สำรวจได้ 656 ครัวเรือน เป็นครัวเรือนไร้ที่ดินสร้างบ้านอยู่อาศัยกว่าร้อยละ 43.22 และเป็นครัวเรือนไร้ที่ดินทำกินร้อยละ 40.7 ครัวเรือนเหล่านี้ต้องหันไปทำอาชีพรับจ้างทั้งในและนอกพื้นที่ถึงร้อยละ 57.47 อีกทั้งการปฏิบัติตามนโยบายการอนุรักษ์ป่าแบบเข้มข้นที่ตั้งเป้าหมายการรักษาผืนป่าของประเทศให้ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 โดยภาครัฐจึงมีปฏิบัติการสำรวจ ตรวจสอบ และตรวจยึดที่ดินของชาวกะเหรี่ยงเพิ่มขึ้นในช่วงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 เป็นต้นมา จนทำให้ครัวเรือนกะเหรี่ยงกว่าร้อยละ 24.70 ได้รับผลกระทบ ร้อยละ 8.69 ถูกจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงที่ยังคงไปทำไร่หมุนเวียนในพื้นที่ทำกินเดิม
ปัญหาการใช้ที่ดินของชนพื้นเมืองชาวกะเหรี่ยงกับการใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเข้มข้นในพื้นที่จะไม่สิ้นสุดลงด้วยการยอมรับและปฏิบัติตามเงื่อนไขของภาครัฐ ตราบใดที่ภาครัฐยังไม่ยอมรับในวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงที่ใช้องค์ความรู้และความชำนาญการพิเศษในการทำไร่หมุนเวียนเพื่อธำรงรักษาระบบนิเวศให้สมดุล และตราบใดที่ภาครัฐยังมองการทำเกษตรแบบไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยงเป็นระบบเกษตรที่ทำลายป่าไม้อยู่ โอกาสที่ประเทศไทยจะเป็นพื้นที่ความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศป่าไม้เขตร้อนก็จะลดน้อยถอยลงไป จึงเป็นที่มาของการเรียกร้องให้ใช้กระบวนการ FPIC ต่อการกำหนดรูปแบบและวิธีการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้โดยการจัดการร่วมของชุมชนท้องถิ่น โดยมีข้อท้าทายต่อการรักษาพื้นที่ป่าไม้ได้มากกว่าร้อยละ 40 ของเป้าหมายประเทศไทย
บทความโดย นครินทร์ ดำรงภคสกุล