คำนำ
ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์มากขึ้นไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ แหล่งอาหารและการดำรงชีวิต ชนเผ่าพื้นเมืองซึ่งมีวิถีชีวิตที่พึ่งพิงทรัพยากรป่าไม้และธรรมชาติต่างก็ได้รับผลกระทบนี้ด้วยเช่นกัน
แนวทางการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ประชาคมโลกใช้อยู่มีสองแนวทางหลักๆ ด้วยกัน คือ การลดก๊าซเรือนกระจก (Mitigation) และการปรับตัว (Adaptation) โดยในระยะแรกจะให้ความสำคัญกับการลดก๊าซเรือนกระจกเป็นหลัก โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเองในอยู่ในเกณฑ์ที่ได้ตกลงกันไว้ในพิธีสารเกียวโต ต่อมาเริ่มให้ความสำคัญกับแนวทางการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้นแต่ความพยายามดังกล่าวก็ยังไม่เพียงพอที่จะลดก๊าซเรือนกระจกให้อยู่ในสภาวะที่ปลอดภัยไม่เป็นอันตรายต่อมนุษยชาติได้
ในปี 2554 เริ่มมีข้อเสนอที่จะให้ความสำคัญกับการลดก๊าซเรือนกระจกจากภาคป่าไม้มากขึ้นเพราะการทำลายป่าปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญตัวหนึ่งขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศถึง 17-20 เปอร์เซ็นต์
การลดก๊าซเรือนกระจกจากภาคป่าไม้จึงได้รับความสนใจตั้งแต่นั้นมา และได้พัฒนาต่อมาจนกลายเป็นโครงการเรดด์พลัส หรือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่าในประเทศกำลังพัฒนา และรวมเอาเรื่องการจัดการป่าอย่างยั่งยืน การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และการเพิ่มพื้นที่การกักเก็บคาร์บอนเข้าไปด้วย โดยมีการจัดทำโครงการนำร่องในประเทศต่างๆ หลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย
ชนเผ่าพื้นเมืองมีข้อกังวลหลายอย่างเกี่ยวกับการดำเนินงานของโครงการเรดด์พลัส เพราะเกรงว่าถ้าโครงการดังกล่าวออกแบบมาโดยขาดการมีส่วนร่วมและการยอมรับเอารูปแบบและองค์ความรู้ของชนเผ่าพื้นเมืองในเรื่องการใช้ประโยชน์และการจัดการทรัพยากรเข้าไปในการดำเนินงานของโครงการก็จะเกิดปัญหาและผลกระทบต่อชุมชน เหมือนกับการประกาศเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทับที่ของชุมชนเหมือนที่ผ่านมา มีการอพยพชุมชนออกจากป่า และ/หรือมีการจำกัดสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรป่าไม้ซึ่งเป็นแหล่งอาหารและการดำรงชีพของชุมชน
ในเดือนธันวาคม ๒๕๕๓ หลังจากที่มีการเจรจามาแล้วหลายปี ข้อตกลงเกี่ยวกับเรดด์พลัสในที่สุดก็ผ่านความความเห็นชอบของประเทศภาคีสมาชิกในการประชุมครั้งที่ ๑๖ ของอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เมืองแคนคูน ประเทศแม็กซิโก เวทีดังกล่าวผู้แทนของชนเผ่าพื้นเมืองเองก็ต้องทำงานอย่างหนักเพื่อให้มั่นใจว่าประเด็นเกี่ยวกับเรื่องสิทธิและข้อกังวลของพวกเขาได้รับการบรรจุเข้าไปในข้อตกลงนี้ด้วย ซึ่งพวกเขาก็ทำได้สำเร็จ แม้ว่าการอ้างอิงถึงชนเผ่าพื้นเมืองและสิทธิของเขาในข้อตกลงดังกล่าวไม่มีข้อความที่ระบุไว้อย่างชัดเจนหรือหนักแน่นเหมือนที่พวกเขาต้องการก็ตาม แต่อย่างน้อยก็มีการบรรจุเอาเรื่องสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองนี้เข้าไป
ถ้าคุณเคยอ่านและศึกษาคู่มือสำหรับชุมชนชุดแรก และ/หรือคู่มือการฝึกอบรมเกี่ยวกับ “เรดด์คืออะไร”? / “เราจะทำอะไรกับเรดด์” ไปแล้วคุณคงจะมีความคุ้นเคยกับข้อตกลงเกี่ยวกับเรดด์พลัสดังกล่าว และคุณจะจำได้ว่า ย่อหน้าที่สำคัญอันหนึ่งของข้อตกลงแคนคูน คือ ย่อหน้าที่ ๗๒ ซึ่งได้ระบุไว้ว่าประเทศภาคีสมาชิก (หมายถึงรัฐบาล) ต้องแน่ใจว่า “ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องต้องมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ อาทิ ชนเผ่าพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่น เมื่อมีการพัฒนาและปฏิบัติการตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ หรือ แผนปฏิบัติการเกี่ยวกับเรดด์พลัส” นอกจากนี้ในย่อหน้าที่ ๒ ของภาคผนวกที่ ๑ ของข้อตกลงแคนคูนได้พูดถึงรายละเอียดเกี่ยวกับการป้องกันผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม (Safeguards) ที่รัฐบาลต้องสนับสนุนและส่งเสริมเมื่อดำเนินงานโครงการเรดด์พลัส นอกจากนี้ในการดำเนินงานโครงการเรดด์พลัสในระยะที่หนึ่ง หรือ การเตรียมความพร้อม การจัดทำแผนยุทธศาสตร์เรดด์พลัสแห่งชาติให้คำนึงถึงประเด็นการถือครองที่ดินตามจารีตประเพณีของชนเผ่าพื้นเมืองด้วย ดังนั้นจะเห็นได้ว่าในเชิงหลักการแล้วการดำเนินงานโครงการเรดด์พลัสต้องให้ชนเผ่าพื้นเมืองเข้าไปมีส่วนร่วมและหลอมรวมเอาองค์ความรู้และการถือครองที่ดินตามจารีตประเพณีของพวกเขาเข้าไปในแผนยุทธศาสตร์ชาติด้วย ดังนั้นเพื่อให้แนวคิดที่ปรากฎอยู่ในเอกสาร สามารถแปลงและนำไปสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ได้ ทางมูลนิธิชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อการศึกษาและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับองค์กรภาคี เช่น คณะทำงานระหว่างประเทศว่าด้วยกิจการชนเผ่าพื้นเมือง (IWGIA), POINT และ ECDF จึงได้ร่วมกันจัดทำคู่มือฝึกอบรมนี้ขึ้นมาใช้สำหรับเรียนรู้และทำความเข้าใจเนื้อหาเกี่ยวกับประเด็นนี้
ในการฝึกอบรมให้ใช้ควบคู่กับคู่มือการฝึกอบรมเล่มอื่นๆ ที่ได้จัดทำไปก่อนหน้านี้แล้ว เช่น เรดด์พลัสบนฐานของชุมชน และการทำเอฟปิคในโครงการเรดด์พลัส เพราะจะทำให้เข้าใจเนื้อหาในรายละเอียดได้มากขึ้น
คณะผู้จัดทำขอขอบคุณ CISU ที่ให้การสนับสนุนในการจัดทำและจัดพิมพ์เอกสารฝึกอบรมนี้ และหากผู้เข้าร่วมฝึกอบรมหรือผู้สนใจทั่วไปมีข้อเสนอแนะที่ต้องการให้มีการปรับปรุงเนื้อหาและกระบวนการฝึกอบรมในคู่มือนี้ให้ดียิ่งขึ้น ทางคณะผู้จัดทำก็ยินดีรับฟังความคิดเห็นครับ
คณะผู้จัดทำ
กุมภาพันธ์ 25
คลิกที่นี่ เพื่อดาวน์โหลดคู่มือ