(เอกสารนโยบาย) ชนเผ่าพื้นเมือง ในเวทีโลกร้อน

หากปัญหาโลกร้อนเป็นเรื่องของคนทั้งโลก
แล้วชนเผ่าพื้นเมืองทั่วโลกล่ะ  จะมีบทบาทอย่างไร?

หลายภาคส่วนได้เคลื่อนไหวกันมานานมาก กับประเด็นการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาระดับโลกที่มีผลกระทบกับทั่วทุกประเทศ ซึ่งสาเหตุสำคัญมากจากการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งจากภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตร หรือการขนส่งและคมนาคม แต่ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นด้วยฝีมือมนุษย์นั่นเอง ดังนั้นหากจะแก้ไขปัญหาก็ต้องอาศัยความร่วมมือของคนจากประเทศต่าง ๆ มาช่วยกัน

องค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น ได้รับการเสนอให้เป็นหน่วยงานหลักที่เอื้ออำนวยพื้นที่ปรึกษาหารือ หรือเป็นพื้นที่ให้ประเทศสมาชิกร่วมกันกำหนดมาตรการการแก้ไขปัญหาใหญ่นี้  โดยมีกลไกที่ประเทศสมาชิกเห็นชอบร่วมกันคือ “อนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” หรือ United Nations  Framework Convention on Climate Change – UNFCCC ซึ่งผ่านการรับรองเมื่อปี 2535 ที่นครริโอฯ ประเทศบราซิล ซึ่งเป็นเสมือนพันธะสัญญาร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกต่าง ๆ ว่าตนเองจะกลับไปลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศตามที่ตกลงกัน  ระหว่างนี้ชนเผ่าพื้นเมืองก็พยายามผลักดันให้รัฐบาลต่าง ๆ เห็นว่า องค์ความรู้และภูมิปัญญาของชนเผ่าพื้นเมืองสามารถเป็นหนึ่งในแนวทางแก้ไขปัญหาโลกร้อนด้วยเช่นกัน และควรได้รับการบรรจุไว้ในเนื้อหาของอนุสัญญา UNFCCC ส่วนหนึ่งเพื่อป้องกันไม่ให้นโยบายการแก้ไขปัญหาโลกร้อนที่ออกแบบโดยรัฐ ส่งผลกระทบต่อชนเผ่าพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นด้วย จนกระทั่งปี 2558 ที่กรุงปารีส  ประเทศฝรั่งเศส ในการประชุมอนุสัญญาฯ ครั้งที่ 21  (COP21) มีการบรรจุเนื้อหาเพิ่มเติมให้ UNFCCC มีพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้สำหรับชนเผ่าพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่น หรือ Local Community and Indigenous Peoples Platform – LCIP platform แต่ยังต้องมาออกแบบรายละเอียดของเวทีนี้ในการประชุมครั้งถัดมา

ดังนั้น ในการประชุมประเทศภาคีสมาชิกอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 23 (UNFCCC COP 23) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๗-๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ ที่กรุงบอนน์ ประเทศเยอรมันนี ที่ประชุมได้มีมติรับรองแนวทางการดำเนินงานของ “เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้องค์ความรู้ท้องถิ่นและองค์ความรู้ชนเผ่าพื้นเมือง” (Local Communities and Indigenous Peoples Knowledge Sharing Platform) เพื่อรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หลังจากที่มีการเจรจากันอย่างเข้มข้นเกือบสองสัปดาห์

      องค์ความรู้ท้องถิ่นและองค์ความรู้ชนเผ่าพื้นเมืองที่แต่ละชุมชนประดิษฐ์ และคิดค้นขึ้นมาได้รับการยอมรับแล้วว่ามีบทบาทและมีส่วนสำคัญในการช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อนและช่วยให้ชุมชนมีศักยภาพในการปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ เช่น ความรู้เกี่ยวกับการเกษตร พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ การจัดการแหล่งน้ำ การอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน ทำให้ชุมชนมีความมั่นคงในเรื่องของอาหารและแหล่งน้ำสำหรับทำการเกษตร อุปโภคและบริโภค เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้จึงมีการเสนอและผลักดันประเด็นนี้ให้เป็นเนื้องานอันหนึ่งของประเทศภาคีสมาชิกที่อยู่ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยที่ประชุมมีมติรับรองไว้ในสมัยการประชุมครั้งที่ ๒๑ ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี 2558 (Decision 1/CP.21 paragraph 135)

โดยรัฐภาคีเสนอให้มีจัดตั้ง “เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้องค์ความรู้ท้องถิ่นและองค์ความรู้ชนเผ่าพื้นเมือง” ขึ้น เพื่อ

  • ส่งเสริมองค์ความรู้ท้องถิ่นและองค์ความรู้ชนเผ่าพื้นเมือง
  • เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้ชนเผ่าพื้นเมืองสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในงานของอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • เพื่อผลักดันและหลอมรวมเอาองค์ความรู้พื้นบ้านและองค์ความรู้ชนเผ่าพื้นเมืองเข้าไปบรรจุในนโยบายและแผนงานของกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การแปลงมติดังกล่าวไปสู่การปฏิบัตินั้น ประเทศภาคีสมาชิกได้นำเอาเรื่องนี้เข้าไปหารือกันครั้งแรกในเวทีการประชุมประเทศภาคีสมาชิกครั้งที่ ๒๒ ที่เมืองมาราเกซ ประเทศโมร็อคโก ในปี 2559 และได้เสนอให้มีการจัดเวทีสุนทรียเสวนาพหุภาคี (Multi-stakeholder dialogue) เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับตัวโครงสร้างและแนวทางการดำเนินงานของเวทีนี้  โดยมอบหมายให้สำนักงานเลขาธิการของอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ก่อนที่จะมีการประชุมในช่วงต้นปี ๒๕๖๐

ดาวน์โหลดเอกสาร

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments