
เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2566ณ โรงเรียนบ้านห้วยส้มป่อย ต.ดอยแก้ว อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ มูลนิธิชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อการศึกษาและสิ่งแวดล้อม ได้จัดเวทีสร้างความตระหนักและความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศการปรับตัวและแนวทางการรับมือของชุมชนกับสถานการณ์ดังกล่าว
ความเป็นมา
ประเทศไทยจากข้อมูลในรายงานของแผนงานลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ (NDC) ระบุว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเปราะบางและมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากโลกร้อนอย่างรุนแรงในลำดับที่ 13 ของโลก ใน 30 ปีข้างหน้า เช่น ปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง ลมพายุที่รุนแรง การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำในมหาสมุทร ซึ่งส่งผลกระทบต่อวิถีการดำเนินชีวิตของคนและสิ่งแวดล้อม เช่น ปัญหาสุขภาพ ปัญหาความมั่นคงทางด้านอาหาร ปัญหาภัยพิบัติ ฯลฯ ปัญหาต่างๆ เหล่านี้มีแนวโน้มว่าจะทวีและเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุหลักนั้นนักวิทยาศาสตร์ระบุว่าเกิดจากกิจกรรมและการกระทำของมนุษย์ เช่น การขุดและนำเอาพลังงานฟอสซิล (ถ่านหิน น้ำมันและแก๊สธรรมชาติ) ขึ้นมาใช้มากจนเกินไป การพัฒนาด้านอุตสาหกรรม การทำเหมืองแร่ การสัมปทานป่าไม้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การขยายพื้นที่เพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ ฯลฯ ทำให้มีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมากขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ เกิดภาวะเรือนกระจก และทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น ก่อให้เกิดสภาพอากาศแปรปรวน ฝนตกไม่ตรงตามฤดูกาล เกิดปัญหาภัยแล้ง อุทกภัย ไฟป่า และการระบาดของโรคและแมลงต่างๆ

ชุมชนชนเผ่าพื้นเมือง ส่วนใหญ่พึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติเป็นฐานในการดำรงชีวิต ก็ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยเช่นกัน แต่ระดับของผลกระทบจะแตกต่างกันออกไปในแต่ละพื้นที่ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ฐานทรัพยากร การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินและองค์ความรู้ที่มีอยู่ของชุมชน เป็นต้น ซึ่งถือเป็นศักยภาพและต้นทุนในการปรับตัวของชุมชนและความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นได้
ดังนั้นเพื่อให้ชุมชมมีความตระหนัก มีความเข้าใจ และมีความรู้ที่สามารถนำไปใช้ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศดังกล่าว ทางมูลนิธิชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อการศึกษาและสิ่งแวดล้อมและองค์กรภาคีที่เกี่ยวข้องและแกนนำชุมชนจึงได้ร่วมกันจัดเวทีนี้ขึ้นมา เพื่อหารือกันถึงแนวทางในการศึกษาและการประเมินผลกระทบโลกร้อนที่มีต่อชุมชน และนำเอาผลการศึกษาดังกล่าวไปจัดทำเป็นแผนการพัฒนาศักยภาพและการปรับตัวของชุมชนในระยะต่อไป
วัตถุประสงค์
- เพื่อทำความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับสาเหตุและผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อชุมชน
- เพื่อประเมินศักยภาพเบื้องต้นของชุมชนในพื้นที่ของกลุ่มอนุรักษ์บนพื้นที่สูง อ.จอมทอง ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- เพื่อแนะนำเครื่องมือการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อชุมชน
- เพื่อประสานงานและสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานในท้องถิ่นในด้านการส่งเสริมและสนับสนุนชุมชนในการปรับตัวและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

วิธีการดำเนินงาน
- เตรียมข้อมูลและออกแบบเครื่องมือการจัดเก็บข้อมูลการประเมินผลกระทบโลกร้อนที่มีต่อชุมชน
- ประสานงานและจัดเวทีสร้างความตระหนักและความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- ทำความเข้าใจเกี่ยวกับเครื่องมือการจัดเก็บข้อมูลผลกระทบโลกร้อนในระดับชุมชน
- ทำแผนการดำเนินงานร่วมกันระหว่างองค์กรภาคีและชุมชนที่เกี่ยวข้อง
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
- ผู้เข้าร่วมมีความตระหนักและเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- ผู้เข้าร่วมมีความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับศักยภาพของชุมชนในการปรับตัวและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- ผู้เข้าร่วมเข้าใจเครื่องมือและกระบวนการศึกษาผลกระทบโลกร้อนที่มีต่อชุมชน
- มีแผนงานและความร่วมมือของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการดำเนินงานร่วมกัน

